top of page
Search

การกำเนิดเพชร (Diamond formation)

การกำเนิดเพชร (Diamond formation) จุดเริ่มต้นความงดงามอันเป็นนิรันดร์


เพชร (Natural diamond) เป็นผลงานอันสมบูรณ์แบบที่รังสรรค์จากธรรมชาติ มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักทางเคมี เกิดบริเวณที่มีบริมาณคาร์บอนเพียงพอ มีความร้อนและความดันสูง (High Pressure, High Temperature) โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 1,150 – 1,200 องศาเซลเซียส และความดัน 50 – 70 กิโลบาร์ หรือมากกว่าความดันปกติถึง 50,000 – 70,000 เท่า บริเวณที่มีปัจจัยเหมาะสมต่อการกำเนิดเพชร คือ บริเวณที่ทางภาษาของนักอัญมณีเรียกว่า ‘cratons’ ซึ่งเป็นส่วนของเปลือกโลกภาคพื้นทวีป (Continental crust) ที่เก่าแก่ มีขนาดใหญ่ และ มั่นคง เนื่องจากบริเวณนี้มีหินอัคนีประเภทหนึ่งที่ชื่อว่า หินเพริโดไทท์ (Peridotite) และหินแปรที่มีชื่อว่า หินอิคโลไจท์ (Eclogite) ซึ่งเป็นแหล่งคาร์บอนที่สำคัญ สำหรับการกำเนิดเพชรครับ เพชรก่อกำเนิดขึ้นที่บริเวณนี้ในส่วนของเนื้อโลกตอนบน (Upper mantle) ซึ่งเป็นระดับความลึกที่มีอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม โดยมีระดับความลึกประมาณ 140 – 220 กิโลเมตร จากเปลือกโลก (The Earth’s crust)


‘Unless the diamonds are delivered to the surface, there’s no way to access them.’ เนื่องจากเพชรก่อกำเนิดขึ้นในระดับความลึกที่ลึกมากจากเปลือกโลก มนุษย์เราจึงไม่สามารถเข้าถึงเพชรเหล่านั้นได้ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากธรรมชาติ กระบวนการทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า Emplacement ซึ่งก็คือการปะทุของแมกมา (Magma) หรือ หินหนืดที่หลอมเหลวอยู่ใต้ผิวโลก ช่วยนำพาอัญมณีอันล้ำค่าเหล่านี้ขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกให้เราได้เชยชม โดยมีหินอัคนีที่เกิดจากแมกมาชื่อว่า หินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberlite) หรือหินอัคนีอีกประเภทหนึ่งชื่อว่า หินแลมโพรไอต์ (Lamproite) ร่วมการเดินทางมาด้วย


แต่การเดินทางของเพชรจากใต้ผิวโลกขึ้นมาสู่ผิวโลกไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในระหว่างการเดินทาง ยิ่งเพชรเดินทางเข้าใกล้ผิวโลกมากเท่าไหร่ ความดันก็จะยิ่งลดลง และหากเพชรอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงแต่ความดันต่ำเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป อาจทำให้เพชรอันเลอค่าเหล่านั้นถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นแกรไฟต์ (Graphite) หรือแร่ดินสอดำ ที่เรามักนำมาใช้ทำไส้ดินสอ หรือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน หลังจากที่ทุกท่านเข้าใจในความลงตัวของปัจจัยหลายๆอย่างในการกำเนิดเพชร ระยะเวลาที่เพชรต้องรออยู่ใต้ผิวโลกหลังจากกำเนิดขึ้นแล้ว ระยะเวลากว่าจะเกิดการปะทุของแมกมาที่นำพาเพชรขึ้นมาสู่ผิวโลก รวมไปถึงระยะเวลาที่กว่ามนุษย์จะค้นพบเพชร Ralph Diamond เชื่อว่าหลายๆท่านคงพอจะเดาได้ว่าอายุของเพชรย่อมไม่น้อยเลย โลกของเรามีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 4.6 พันล้านปี จากข้อมูลงานวิจัยในปี 2010 พบว่าเพชรที่มีอายุน้อยที่สุด พบที่ประเทศ Brazil มีอายุประมาณ 107 ล้านปี ส่วนเพชรที่มีอายุมากที่สุด พบที่ประเทศ Canada ในเหมือง Ekati มีอายุถึง 3.5 พันล้านปี เมื่อเปรียบเทียบอายุของโลกเรากับอายุของเพชรแล้ว เพชรนับเป็นอัญมณีที่มีจุดกำเนิดอยู่คู่กับโลกมาแสนนาน


ความอมตะของเพชรนอกจากจะมาจากอายุหลายร้อยหลายพันล้านปีที่อยู่คู่กับโลกเราแล้ว ยังมาจากความสวยงามที่โดดเด่น เนื่องจากเพชรมีค่าดัชนีการหักเหแสง (Refractive index / RI) ที่สูง เมื่อมีแสงมาตกกระทบจึงสามารถสะท้อนแสงได้ดี ทำให้เพชรเป็นอัญมณีที่มีความสว่าง (Brightness) มากกว่าอัญมณีชนิดอื่น และเพชรมีลักษณะพื้นผิวเมื่อมีแสงมาตกกระทบ หรือความวาว (Luster) แบบ Adamantine หรือความวาวแบบเพชร ซึ่งเป็นค่าความวาวที่สูงมากและพบเพียงแค่ในเพชรเท่านั้น อีกทั้งเพชรยังเป็นอัญมณีที่มีค่าการกระจายตัวของแสง (Dispersion) สูงที่สุดในบรรดาอัญมณีธรรมชาติ จึงมีไฟ หรือ ประกายสีรุ้ง (Fire) ที่สะดุดตากว่าอัญมณีทั่วไป


อีกหนึ่งคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ยากจะหาอัญมณีชนิดใดเสมอเหมือน นั่นก็คือความแข็งแรง (Hardness of the Moh’s scale) ที่สูงที่สุดเหนืออัญมณีธรรมชาติและอัญมณีสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ เนื่องจากเพชรกำเนิดมาจากอุณหภูมิและความดันใต้พื้นผิวโลกที่สูงมากๆ จึงมีโครงสร้างผลึกที่แข็งแรง ซึ่งส่งผลต่อความสวยงามในการเจียระไน ทำให้เพชรแต่ละเม็ดมีเหลี่ยมที่คมชัด อีกทั้งความแข็งแรงของเพชรยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพชรเหมาะที่จะนำมาทำเป็นเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีความคงทนต่อการขีดข่วน ความร้อน และสารเคมีที่ทุกท่านมักใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญที่สุดก็คือท่านสามารถส่งต่อความงดงามนี้ให้เป็นมรดกสืบทอดภายในครอบครัวต่อไปได้ โดยที่ความสวยงามยังคงเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือมูลค่าของเพชร Ralph Diamond จึงอยากให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าการลงทุนซื้อเพชรในแต่ละครั้งนั้น ท่านได้ลงทุนกับอัญมณีอันเป็นนิรันดร์ สมกับตำนาน ‘Diamonds are forever.’






bottom of page